หลังจากเข้าฤดูฝนมาได้แค่เดือนสองเดือน สนามแข่งขัน วิ่งเทรล หรือ trail running ประเทศไทยก็เริ่มกลับมาคึกคักขึ้น สำหรับ มือใหม่ วิ่งเทรล ที่ตามเก็บสนามคงเริ่มจับหลักได้แล้วว่า สนามเทรลใหญ่ๆ หรือฤดูแข่งขัน วิ่งเทรล ส่วนมากจะจัดแข่งเดือนในช่วงเดือนหก (ฤดูฝน) เป็นต้นไป
ด้วยปัจจัยสภาพอากาศที่เย็นลง มีฝน มีความชุ่มฉ่ำ ป่าเขียวน่าชม เป็นตัวเอื้อให้มีการจัดวิ่งแข่งเทรล ตั้งแต่ช่วง 6 เดือนเป็นต้นไป และอาจจะยาวไปถึงต้นปีหน้า ประมาณเดือนมกราคมและกุมพาพันธ์ ดังนั้นนักวิ่งที่สนใจลงวิ่งสนามเทรล ควรใช้ช่วงเวลา 6 เดือนแรกของปีฝึกซ้อมให้มากที่สุด เตรียมความพร้อมให้ร่างกายและสร้างทักษะประสบการณ์ในสนามวิ่ง
ก่อนลงสนามเทรลจริง Step Extra ก็มีข้อแนะนำเล็กๆ น้อยๆ มากฝากกัน…เริ่มจากเรื่องที่พักที่นอน รองเท้าเเละเป้น้ำ
1. นอนเต็นท์หรือนอนโรงแรมดี
ผู้จัดงาน วิ่งเทรล ส่วนมากจะจัดสรรพื้นที่ส่วนหนึ่งสำหรับให้นักวิ่งกางเต็นท์นอน มีพื้นที่เปล่าและมีสิ่งอำนวยความสะดวกเล็ก ๆ น้อยๆ อย่างเช่น ไฟฟ้าและห้องน้ำ แต่จากประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียน ถ้าจะนอนเต็นท์นั้นให้เลือกช่วงปลายฝนต้นหนาว มันจะปลอดภัยมากกว่าในช่วงฤดูฝน เพราะการนอนเต็นท์ต้องวัดดวงว่าฝนจะตกหรือไหม ถ้าตกตัวพื้นดินจะเป็นตัวปัญหามากที่สุด พื้นดินเละจนเดินแทบไม่ได้ โชคร้ายหน่อยก็จะเจอน้ำท่วม
แต่ถ้าชอบที่จะนอนเต็นท์ ขี้เกียจขับรถไกลหรือไม่อยากเสียตังค์เช่าโรงแรม แนะนำให้สำรวจพื้นที่กางเต็นท์โดยรอบให้ดีซะก่อน พื้นที่สามารถถ่ายเทน้ำได้ไหม หรือมีโอกาสท่วมขัง สภาพพื้นดินง่ายต่อการเดินไปมาหรือไหม ห้องน้ำห้องส้วมมีมากน้อยแค่ไหน เข้าส่วนไหนสะดวกเราที่สุด เพราะในวันแข่งขัน ตอนเช้าๆ ก่อนปล่อยตัวจะต้องต่อคิวเข้าใช้ยาวเหยียดแน่นอน
2. เลือกรองเท้าให้ถูกประเภท
ต้องเรียกว่ากรุณาซื้อรองเท้าวิ่งเทรลมาใส่วิ่งเถอะครับ!…เพราะรองเท้าวิ่งในเมืองทั่วไป รองเท้าประเภทวิ่ง city run ไม่มีดอกยางที่สามารถยึดเกาะพื้นผิวได้ดีเท่ารองเท้าวิ่งเทรล นี้เป็นสาเหตุที่เห็นเพื่อนนักวิ่งไถลลงจากเนินเขา ไม่ก็ปีนขึ้นเนินอย่างทุลักทุเล
เนื่องด้วยพื้นผิวสนามแข่งเป็นทางวิบาก ถ้ามีฝนตกหน่อยก็เละเป็นโคลน ดอกยางรองเท้าธรรมดาจะไม่สามารถยึดเกาะได้ เพราะเจ้าโคลนตัวดีจะเข้าไปอุดตามร่องดอกยาง โอกาสลื่นล้มจึงมีสูง ถ้ายังจินตนาการภาพไม่ออกก็ลองดูที่ล้อรถเก๋งกับล้อรถกระบะ อย่างไหนเหมาะกับทางวิบากมากกว่าผู้เขียนเองเจอมากับตัว ใส่รองเท้าธรรมดาวิ่งเทรลถึงกับสไลด์ลงเนินมาล้มก้นจ้ำเป้าเลย
ข้อควรรู้อีกอย่างหนึ่ง คือ พื้นรถเท้าทั่วไปเองก็จะนิ่มกว่ารองเท้าวิ่งเทรล เวลาวิ่งเหยียบหิน เศษไม้แหลมๆ นี้กระทุงรับรู้ได้ถึงฝ่าเท้าเลย ดอกยางรองเท้าเองแม้จะเป็นส่วนที่แข็งที่สุดยังก็พังได้ง่ายเลย
รองเท้าวิ่งทั่วไปมีวัสดุที่ห่อหุ้มเท้าด้านบนไม่ทนทานเท่ารถเท้าวิ่งเทรล มีโอกาสฉีกขาดมีสูงกว่า รถเท้าวิ่งทั่วไปดีไซน์สวยงามแต่บาง เน้นการระบายเหงื่อความนุ่มสบาย ไม่เหมาะกับการลุยโคลนตม และต้องเจอเศษไม้ทิ่มแทงระหว่างทาง
3. อย่าลืมพกเป้น้ำและอาหารติดไม้ติดมือไปด้วยนะ
กฎที่สำคัญข้อหนึ่งของการวิ่งเทรลคือ ต้องมีการพกเป้น้ำไปด้วย สำหรับระยะวิ่งสั้นๆ อย่าง วิ่งเทรล 10 กิโลเมตร ยังคงมีการอะลุ่มอล่วยไม่ต้องพกไปก็ได้ แต่สำหรับระยะ 20 กิโลเมตรขึ้นไปบังคับว่าต้องมีครับ ถ้าไม่อยากเสียตังค์ซื้อ ก็แนะนำว่าวิ่งพกขวดน้ำไปด้วยละกัน หรือหาพวก race belt ที่พอจุน้ำสัก 500 ml และติดขนมขบเคี้ยว 1-2 อันได้
สาเหตุที่เราควรพกเป้น้ำไป เพราะ…
- จุดให้น้ำที่ห่างไกล : ปกติจุดให้น้ำ (Water station) จะวางหนึ่งจุดต่อระยะทาง 2 หรือ 2.5 กิโลเมตร แต่สำหรับการวิ่งเทรล เจ้าหน้าที่ไม่สามารถแบกน้ำไปให้นักวิ่งกลางป่ากลางเขาได้ ยากและไม่คุ้มทุนมาก ในการวิ่งเทรลจะมีการระบุจุดให้น้ำตามพื้นที่ที่ขนส่งสามารถเข้าถึงได้สะดวก เป็นจุดที่เส้นทางที่รถสามารถเข้าถึงได้ บางที่กินระยะประมาณ 4-5 กิโลเมตรต่อหนึ่งจุดให้น้ำ ยิ่งเป็นการแข่งระยะอัลตรา (Ultra marathon หรือการวิ่งที่เกิน 42.195 กิโลเมตร) จุดให้น้ำอาจจะห่างกันเกือบสิบกิโลเมตรก็ได้
- การวิ่งเทรลกินระยะเวลานานกว่าการวิ่งบนถนนทั่วไป : เพราะด้วยเราต้องวิ่งขึ้นลงเนินเขา การแข่งขันจึงกินระยะเวลานานกว่าการวิ่งบนทางเรียบ เมื่อเราเผาผลาญพลังงานไประยะหนึ่ง ก็ควรจะมีการเติมพลังงานเข้าไปทดแทน เจ้าเป้น้ำเองมีซองกระเป๋าให้เราสามารถบรรจุพวกขนมขบเคี้ยว พวก Energy bar หรือ Energy gel ได้ บางงานแข่งนักวิ่งก็พกกล้วยตากแห้ง เจล หรือไม่ก็พกข้างเหนียวหมูปิ้งเลยนะ วิ่งไปหมดแรงก็พักกินข้าวกินปลาเติมพลังเพื่อไปต่อ ในส่วนการวางแผนพักเติมพลังงาน พักจุดไหน กิโลเมตรที่เท่าไหร่ก็ต้องวางแผนกันเอาเอง เพราะแต่ละคนมีความฟิตและแผนการฝึกมาที่ต่างกัน
- ปลอดภัยไว้ก่อน : นอกเหนือเป้น้ำจะสามารถใส่น้ำและของกินได้แล้ว ยังสามารถกพาอุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้ด้วย อย่างเช่น สเปรย์ Perskindol เอาไว้ฉีดแก้กันตะคริว พวกพลาสเตอร์พันแผล ยาดมยาลมยาหม่อง เป็นต้น หรือไม่ก็เอาไว้ใส่โทรศัพท์มือถือก็ได้และ Power bank ด้วย เอาไว้โทรติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อขอความช่วยเหลือ หรือโหลด GPS ไว้กันหลง ยิ่งงานแข่งที่กินระยะทางเยอะๆ จะบังคับให้เราโหลดแผนที่ลงนาฬิกา GPS หรือไม่ก็ลงมือถือไว้