ความร้อนก็หยุดคุณไม่ได้ ถ้าเรารู้จักหัวใจหลักในการปั่นออกกำลังกายในช่วงเวลาอากาศร้อน นั้นคือ การรักษาสมดุลน้ำในร่างกาย (Dehydration) และการป้องกันไม่ให้อุณหภูมิร่างกายขึ้นสูงจนเกินไป (Prevent over heating)
แต่ทั้งนี้นักปั่นควรเข้าใจว่าในช่วงเวลาอากาศร้อน การปั่นหรือ Performance ของเราจะตกลงได้ และเป็นเรื่องปกติและไม่ต้องตกใจ เพราะร่างกายกำลังปรับตัวเข้ากับภาวะอุณหภูมิร้อน ร่างกายมีการสูญเสียเหงื่อที่เยอะขึ้น มีการระบายความร้อนมากขึ้นและอาจจะทำได้ยากขึ้นหน่อย เราจะรู้สึกไม่สบายตัว ทั้งหมดนี้เลยทำให้ performance ตกลง นักปั่นต้องใช้เวลากันสักนิด จนกว่าร่างกายจะเข้าที่เข้าทาง
ร้อนก็ยังไหว: 5 วิธีปั่นสู้อากาศร้อน
1. รักษาระดับน้ำในร่างกายให้ดี
อุปสรรคหลักของการปั่นในช่วงฤดูร้อนคือ การรักษาระดับน้ำในร่างกาย (Keep hydrated) ในช่วงอากาศร้อนอย่างนี้ ร่างกายจะขับเหงื่อออกมาเยอะกว่าปกติ ทั้งนี้เพื่อลดอุณหภูมิร่างกาย แต่เมื่อปะทะกับลมทัน เหงื่อจะระเหยแห้งไปเร็วมาก ทำให้เราประเมินได้ยากว่าสูญเสียเหงื่อไปเท่าไหร่แล้ว
เพื่อรักษาระดับน้ำในร่างกายให้คงที่มากที่สุด นักปั่นจำเป็นต้องจิบดื่มน้ำอย่างต่อเนื่องและอาจจะต้องบ่อยขึ้น วันไหนร้อนมากจะยิ่งดื่มมากกว่าปกติ น้ำเปล่าขนาด 2 ขวดปกติทั่วไป อาจจะหมดลงได้ในหนึ่งชั่วโมง แต่ถ้ามีแผนจะปั่นเกินกว่าหนึ่งชั่วโมงแล้ว อย่าลืมนำเครื่องดื่มเกลือแร่ที่มีส่วนผสมสารอิเลกโตรไลท์มาด้วย เพราะปริมาณเกลือแร่ในร่างกายจะไหลออกไปพร้อมกับเหงื่อด้วย หากสูญเสียมากไปอาจจะทำให้เกิดเป็นตะคริวได้ นอกจากนี้เพื่อเพิ่มความสดชื่นให้กับร่างกาย ทดลองใส่น้ำแข็งก้อนสักสองสามก้อนใหญ่ๆ ในขวดน้ำ อย่างน้อยก็ก่อนปั่นสัก 15 นาที ให้น้ำเย็นชื่นใจเวลาดื่ม
นอกจากอากาศร้อนจะทำให้สูญเสียเหงื่อมากกว่าปกติแล้ว ความเข้มข้นของการฝึกก็มีผลเช่นกัน ฝึกปั่นหนักก็เสียน้ำออกไปเยอะเช่นกัน ในช่วงนี้นักปั่นอาจจะต้องลดความเร็วลงมาหน่อยหรือปั่นระยะทางระยะเวลาให้ต่ำลงมาสักนิด
2. ชุดปั่นที่ระบายอากาศรีดเหงื่อได้ดี
คงไม่ลงลึกเท่าไหร่สำหรับชุดแต่งกาย เพราะเชื่อว่านักปั่นคงมีเสื้อชุดปั่นนับจำนวนไม่ถ้วนอยู่แล้ว แต่สำหรับการเลือกชุดแต่งกายสู้ฤดูร้อน โปรดเลือกแบบที่เป็น Lightweight & Wicking นั้นคือ เสื้อผ้ามีความบางเบาและไม่ดูดซับน้ำ ระบายอากาศได้ดี เน้นชุดปั่นสีขาวหรือโทนสีอ่อนๆ เลือกเสื้อที่มีซิบอยู่ข้างหน้าสำหรับรูดซิปรับลมและระบายอากาศ ใส่ชุดแขนขาสั้น ถุงเท้าแบบสั้นและใส่ปลอกแขนกันแดดแทน เพิ่มพื้นที่ผิวให้ได้ระบายอากาศมากที่สุด
ถุงมือปั่นจักรยานเองก็ควรเลือกแบบเปิดนิ้วทั้งห้าหมด (Fingerless track mitts) แต่ยังคงหุ้มอุ้งมือไว้ เพราะเวลาอากาศร้อนเหงื่อจะออกที่ฝ่ามือมาก การจับมือเปล่าจะทำให้แฮนด์เปียกและลื่นได้
3. ระวังแสงแดด
โดยส่วนมากเราจะนิยมทาครีมกันแดด อย่างเช่น Banana Boat SPF 50, Neutrogena และ Spectraban ก็เป็นที่นิยม ต่อมาก็การใส่แว่นกันแดด แนะนำว่าให้ใส่ทุกคนครับ เพราะนอกจากป้องกันรังสี UV แทงตาแล้วยังช่วยกันลม กันเศษหินดินทรายเข้าตา
ระหว่างออกปั่น ถ้ากลัวว่าเจ้าครีมก็จะเริ่มหมดสภาพ ให้ใส่ปลอกแขนและปลอกขา ในส่วนของใบหน้านิยมใส่ไอ้โม่ง เอาแบบบางๆ นะครับ เดียวหัวร้อนเอา แต่บางคนไม่ชอบเพราะหายใจลำบากจึงแนะนำเป็นผ้าบัฟแทนชุบน้ำหมาดๆ แต่ถ้าไม่ชอบให้มีอะไรมาติดที่หน้าก็ทาครีมกันแดดไปเลย
4. มองเส้นทางให้ดี
ช่วงหน้าร้อน ถนนที่ทำมาจากยางมะต่อยจะมีการหล่อมละลายบางส่วน เกิดเป็นยางเหนียวลื่นหรือบ่อน้ำมันน้อยๆ (Tar) หากปั่นผ่านอย่างไม่ระวัง จะทำให้เกิดการลื่นล้มลงได้ นักปั่นโปรดศึกษาสังเกตเส้นทางให้ดี เพราะนอกจากหลุมบ่อที่พบเจอทั่วไปแล้ว หน้าร้อนเราจะมีบ่อน้ำมันยางมะต่อยเพิ่มขึ้นมาอีก
5. ปั่นเช้าหรือปั่นเย็น
ทางที่ดีที่สุดเวลาปั่นหน้าร้อนคือ หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับแสงแดดโดยตรง พยายามเลี่ยงช่วงที่แดดออกให้มากที่สุด ดังนั้นเรามีตัวเลือกสองทางคือ ปั่นตอนเช้าตรู่ขณะที่อุณหภูมิยังไม่ร้อน หรือช่วงแดดร่มลมตกตอนเย็นๆ ไปเลย แม้มันจะร้อนแต่เราก็ไม่ออกไปปั่นในช่วงที่มีอากาศร้อนแรงและเป็นอันตรายได้
ทริคเล็กๆ น้อยๆ หลังจากจบการปั่น เพื่อความสบายตัว เราแนะนำให้ทำการเปลี่ยนเสื้อผ้าเพื่อลดเหงื่อ การสะสมเหงื่อและแบคทีเรียอันทำให้เกิดกลิ่นอันไม่พึ่งประสงค์ ช่วยลดการติดเชื้อราได้ ยิ่งใครมีรถส่วนตัว การนั่งบนเปาะเปียกๆ นานๆ ย่อมไม่ดีแน่ ในกระเป๋าที่ติดมาอย่างน้อยควรมีเสื้อผ้าลำลองเอาไว้เปลี่ยน มีผ้าขนหนู สบู่และยาสระผมติดไว้ แต่กรณีที่ไม่มี ผู้เขียนแนะนำให้ซื้อกระดาษทิชชู่เปียกติดไว้ ใช้เช็ดตัวในห้องน้ำและเปลี่ยนใส่เสื้อตัวใหม่ได้เลย
อ้างอิง www.cyclingweekly.com