Edge 520 เป็น GPS สำหรับจักรยานรุ่นใหม่ล่าสุดจากทาง Garmin ที่ถือว่าอยู่รุ่นระดับกลางที่รองรับการใช้งานได้ครบทุกด้าน มีฟีเจอร์พื้นฐานสำหรับแสดงข้อมูลการปั่นจักรยาน รวมถึงยังมีเพิ่มลูกเล่นใหม่อย่างเช่น Live Segment จาก Strava และยังรองรับกับอุปกรณ์รุ่นใหม่ของ Garmin ได้อีกเพียบ
Unbox
Garmin Edge 520 รุ่นที่เข้ามาขายในไทยจะเป็นรุ่น Bundle ที่แถมเซนเซอร์สำหรับจักรยานแบบครบเซ็ท ไม่ว่าจะเป็น ตัววัดรอบขา (Cadence) และ วัดความเร็ว (Speed) ทึ่เป็นแบบใหม่ของ Garmin ออกแบบมาให้ใช้งานโดยติดตั้งที่ดุมล้อและขาจาน โดยไม่ต้องมีตัวแม่เหล็กมาติดแบบรุ่นเก่า ส่วนตัวชอบแบบใหม่นี้มากเพราะมันติดตั้งได้ง่าย และถอดย้ายไปใส่คันอื่นได้ง่ายด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ยังมีสายคาดหน้าอกวัดจังหวะการเต้นของหัวใจ (Heart Rate Sensor) แบบ Premium พร้อมทั้งมีอุปกรณ์ mount ทั้งแบบรัดติดกับสเต็มและแบบเป็นขายื่นออกไปด้านหน้า (Out Front) ที่สามารถเอากล้อง Garmin Virb XE รุ่นใหม่มาติดใช้งานร่วมกันได้ด้วย
ถือว่าในชุดแบบ Bundle นี้ให้มาครบหมดทุกสิ่งอย่างที่จะเอาไปใช้กับจักรยานคุณได้หมดเลย ตัวชุดนี้เลยจะเหมาะสำหรับคนที่เริ่มต้นอยากใช้ GPS เพื่อกันปั่นแบบจริงๆ จังๆ ซื้อทีเดียวครบชุดหมด (อ่านการแกะกล่องเต็มๆ ได้ที่นี่)
Set Up
เริ่มต้นการใช้งานของ Gamin Edge 520 นั้นก่อนอื่นเลยให้ทำการเตรียมบัญชีของระบบ Garmin Connect ซึ่งจะเป็นตัวโปรแกรมสำหรับเก็บข้อมูลในการออกกำลังกายของเราผ่านอุปกรณ์, โหลดโปรแกรมการฝึกซ้อม, เส้นทางในการปั่น รวมถึงยังมีในส่วนของ ระบบสังคมออนไลน์ให้เชื่อมต่อกับเพื่อนที่ใช้งาน Garmin ด้วยกันได้ฟรี
ให้เข้าไปที่เว็บ https://connect.garmin.com แล้วเลือกที่ Sign In ถ้าหากยังไม่เคยมีบัญชีของ Garmin ก็ให้ทำการ Sign Up เพื่อลงทะเบียนผู้ใช้ครั้งแรกให้เรียบร้อย แล้วเราก็จะสามารถเข้าสู่หน้าการใช้งาน Garmin Connect ได้แล้ว
และที่หน้า Garmin Connet นี้ให้เข้าไปตั้งค่าในส่วนของอัตราการเต้นของหัวใจให้เรียบร้อยด้วย ทั้งในส่วนของ Rest Heart Rate และ Heart Rate Zone ทั้ง 5 ระดับ เพื่อที่การใช้งานในการเตือนหรือเก็บสถิติด้านการเต้นของหัวใจจะได้ถูกต้องและแม่นยำ
ขั้นตอนต่อไปก็ให้ไปที่ https://connect.garmin.com/en-US/start/ และโหลดโปรแกรม Garmin Express มาติดตั้งในคอมพิวเตอร์ แล้วเสียบสาย micro USB เข้ากับตัว Edge 520 ที่ด้านหลัง (มีจุกยางปิดอยู่) แล้วกดเพิ่ม Device ใหม่ เท่านี้ตัว Edge 520 ก็จะเชื่อมต่อกับบัญชี Garmin Connect ของคุณเรียบร้อยแล้ว
นอกจากนี้แนะนำให้ลงแอพ Garmin Connect บนสมาร์ทโฟนของคุณด้วย ที่มีรองรับทั้งระบบ iOS และ Android จัดการ Sign In และเปิด Bluetooth ทั้งในสมาร์ทโฟนและตัว Edge 520 เพื่อทำการเชื่อมต่อแบบไร้สาย ทำเพียงแค่ครั้งเดียวเมื่อ pair เรียบร้อยแล้ว คราวนี้เราก็จะสามารถใช้ฟีเจอร์ของ Edge 520 ได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งเตือนในเวลาที่มีสายโทรเข้าหรือ SMS, การอัพโหลดข้อมูลการปั่นเข้าระบบให้ทันทีที่ปั่นเสร็จแล้วกดบันทึก, โหลด Live Segment มาไว้ในตัว Edge 520
ปุ่มต่างๆ บน Garmin Edge 520
สิ่งที่เปลี่ยนไปใน Edge 520 ก็คือใช้ระบบปุ่มกดในการเลือกคำสั่ง จากเดิมในรุ่น Edge 510 นั้นเป็นแบบหน้าจอสัมผัส หลายคนอาจจะรู้สึกว่าแล้วมันจะดีหรือ? ส่วนตัวหลังจากที่ใช้แล้วกลับชอบมากกว่าแบบสัมผัสนะ อาจจะเพราะว่าบน Edge 510 เวลากดเลือกเมนูจะมีอารมณ์จังหวะหน่วงๆ อยู่ แต่ใน Edge 520 นี่เร็วกว่ามาก และการเปลี่ยนมาเป็นแบบปุ่มกดก็ทำให้มันมีขนาดเล็กลงกว่าเดิมโดยที่หน้าจอใหญ่ขึ้นด้วย
- ปุ่ม Power กดค้างเพื่อเปิดปิดการทำงาน แต่ถ้าระหว่างที่เปิดเครื่องกดจะเป็นเลือกปรับความสว่างของไฟ backlight
- ปุ่มเลื่อนเคอร์เซอร์ขึ้นในการเลือกเมนู ถ้าเวลาที่อยู่หน้าโฮม จะเป็นการกดเพื่อเลือกเข้าไปดูในส่วนหน้าสถานะ ถ้าอยู่ระหว่างการปั่นจะเป็นเลื่อนเปลี่ยนหน้าต่างแสดงผล
- ปุ่มเลื่อนเคอร์เซอร์ลงในการเลือกเมนู เวลาที่อยู่หน้าโฮมจะเป็นการเลือกเข้าสู่เมนู Setting ถ้าอยู่ระหว่างการปั่นจะเป็นเลื่อนเปลี่ยนหน้าต่างแสดงผล
- ปุ่ม Lap สำหรับเวลาที่กำลังบันทึกการปั่น กดแล้วจะเป็นการกำหนดเพื่อเริ่มนับรอบใหม่ และยังเอาไว้ใช้สั่งเก็บภาพ Screenshot หน้าจอของ Edge 520 ได้ด้วย
- ปุ่ม Start สำหรับกดเพื่อเริ่มบันทึกการปั่น และกด Pause เพื่อพักการบันทึก
- ปุ่ม Back สำหรับย้อนกลับไปเมนูก่อนหน้า
- ปุ่ม OK สำหรับตอบตกลง หรือเลือกคำสั่งนั้นๆ
Mount on Bike
เตรียมเรื่องของซอฟท์แวร์และบัญชีใช้งานเรียบร้อยแล้ว คราวนี้ก็มาติดตั้งที่ตัวจักรยานของเรา เลือกใช้ได้ตามสะดวกจะติดที่สเต็มหรือแบบขายึด ส่วนตัวผมชอบแบบขายึดมากกว่า ส่วนตัวเซนเซอร์ Speed ให้ยึดด้วยเส้นยางซิลิโคนไว้ที่ดุมล้อหน้า และตัว Cadence ก็เอามารัดติดไว้ที่ขาจานด้านใน สำหรับเซนเซอร์ทั้ง 2 ตัวจะกันน้ำได้ด้วย ในระดับที่ปั่นลุยฝนได้ไม่มีปัญหา แต่ก็หมั่นถอดออกมาทำความสะอาดบ้าง และถอดออกในเวลาที่ล้างรถด้วย
เมื่อติดตั้งเรียบร้อยแล้วก็จัดการจับคู่อุปกรณ์เข้ากันเริ่มด้วยเปิด Edge 520 ขึ้นมา ตัวเครื่องจะค้นหาสัญญาณดาวเทียม แนะนำว่าตอนนี้ให้อยู่ในพื้นที่กลางแจ้ง หลังจากจับสัญญาณได้แล้วก็จะเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนของเราที่ลง Garmin Connect ไว้พร้อมทั้งดาวน์โหลดข้อมูล Segment ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงมาเตรียมไว้ให้
ส่วนตัวเซนเซอร์ Speed และ Cadence มันจะตรวจเจอเมื่อจักรยานของเราเริ่มปั่น (เซนเซอร์จะเริ่มส่งสัญญาณเมื่อมีการเคลื่อนไหว) ส่วนตัว Heart Rate Sensor ก็จะตรวจจับเจอเมื่อเราสวมคาดที่หน้าอก เท่านี้ก็พร้อมปั่นได้แล้ว
รองรับภาษาไทยเต็มรูปแบบ
ข้อดีของ Garmin Edge 520 ก็คือเป็นภาษาไทยโดยสมบูรณ์ ซึ่งปกติจะมีเฉพาะในรุ่นที่สูงกว่านี้ โดยที่ภาษาไทยไม่ใช่มีแค่เฉพาะเมนูใช้งานเท่านั้น แต่รองรับทั้งชื่อของ Segment และข้อความ SMS, ชื่อคนโทรที่โทรเข้ามาด้วย แต่ถ้ารู้สึกไม่ถนัดกับเมนูไทยก็สามารถเข้าไปเลือกเปลี่ยนได้ในหน้า Setting
ตั้ง Profile ได้ถึง 10 แบบ
ในเครื่องจะมีตั้ง Profile การใช้งานมาให้แล้ว 3 แบบคือ Indoor (การปั่นในร่ม / ปั่นเทรนเนอร์), Race (ปั่นแข่งขัน) และ Train (ปั่นเพื่อฝึกฝน) แต่ว่าผู้ใช้ก็สามารถสร้าง Profile ในแบบของตัวเองเพิ่มเข้าไปได้อีก 7 แบบ รวมเป็นทั้งหมด 10 รูปแบบด้วยกัน โดยแต่ละ Profile เราสามารถตั้งระบบการใช้งานได้ตามต้องการ อาทิ
- หน้าจอแสดงผลข้อมูล เลือกใช้งานได้ทั้งหมด 5 หน้า โดยแต่ละหน้าจอสามารถเลือกแสดงผลได้ 10 ข้อมูล
- เลือกเปิดปิดหน้าจอแสดงข้อมูลแผนที่, เข็มทิศ, ความสูง, สรุป Lap, Virtual Partner และ Cycling Dynamic
- ปรับโหมดการใช้งาน GPS
- ปรับค่าการแสดงผลในหน้าแผนที่ (การหันของแผนที่, การซูมอัตโนมัติ, คำแนะนำ)
- การแจ้งเตือนที่สามารถเลือกให้เตือนได้ตามค่าที่กำหนดเช่น ระยะทาง, แคลอรี่, อัตราการเต้นของหัวใจ, รอบขา, Power สำหรับเน้นในเรื่องการฝึกฝนและคุมโซนในการปั่น
- ตั้งค่าอัตโนมัติของการนับรอบ Lap(เลือกได้ทั้งการกำหนดตำแหน่ง (กรณีที่ปั่นสนามวนรอบกลับมาจุดเริ่มต้น) และแบบกำหนดรอบทุกระยะเส้นทางที่กำหนด (ส่วนตัวผมชอบใช้แบบนี้ กำหนด Lap ทุก 1 กิโลเมตร เอาไว้กำหนด pace ไปในตัว), เลือก Auto Pause ที่จะหยุดเวลาการบันทึกเมื่อเราหยุดปั่นและจอดหยุดนิ่ง และจะ resume ให้ทันทีเมื่อเริ่มปั่นต่อ, Auto Sleep สั่งให้ปิดตัวเองเมื่อไม่มีการใช้งานเป็นเวลานานเพื่อประหยัดพลังงาน และตั้งค่าเลื่อนหน้าจออัตโนมัติ โดยเมื่อเวลาปั่นมันจะเปลี่ยนหน้าจอตามที่เราตั้งไว้ใน Profile ให้เองตามเวลาที่กำหนด ไม่ต้องเสียเวลากดเอาเอง
- เลือกเปิดปิดของโหมดการแจ้งล่วงหน้า เลือกเปิดปิดหรือสั่งให้เตือนครั้งเดียวหรือเตือนซ้ำ
เรียกได้ว่าระบบนี้ช่วยให้สะดวกสบายในการใช้งานและผู้ใช้สามารถตั้งค่า Profile การใช้งานให้เหมาะสมกับรูปแบบกิจกรรมการปั่นได้อย่างหลากหลาย
เชื่อมต่อกับอุปกรณ์เสริมอื่นๆ ได้อีกเพียบ
พื้นฐานอุปกรณ์ของ Garmin จะใช้ระบบการเชื่อมต่อแบบไร้สายเป็น Bluetooth ที่เป็นมาตรฐาน ANT+ เท่านั้น ใน Edge 520 นอกจากจะมีตัว Speed, Cadence และ Heart Rate Monitor แบบสายคาดอกแถมมาให้แล้ว คุณสามารถใช้กับอุปกรณ์เซนเซอร์ยี่ห้ออื่นได้ด้วย แต่ต้องเป็นมาตรฐาน ANT+ ด้วยเหมือนกัน และตัว Edge 520 จะเปลี่ยนระบบการจำอุปกรณ์เป็นแบบจัดกลุ่มเป็นเซตสำหรับจักรยานแต่ละคัน เป็นแบบจำเป็นชิ้นๆ ซึ่งสะดวกมากขึ้นกว่าเดิม และเมื่อทำการจับคู่ไว้แล้วมันจะจำชื่อเป็นรหัส ผู้ใช้สามารถเข้าไปเปลี่ยนเป็นชื่อให้จำได้ง่ายขึ้นได้ด้วย
นอกจากเซนเซอร์พื้นฐานแล้ว Edge 520 ยังรองรับอุปกรณ์อื่นๆ อีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น Power Meter, Garmin Varia ระบบเซนเซอร์ตรวจจับรถยนต์ที่วิ่งมาจากด้านหลัง, กล้อง Garmin Virb XE และ Trainner รุ่นที่รองรับการเชื่อมต่อแบบ ANT+
หน้าแสดงแผนที่แบบ Basement
ตัว Edge 520 เป็นรุ่นที่ไม่ได้เน้นในเรื่องของการใช้แผนที่เพื่อการนำทางเหมือนกับรุ่น Edge 810 หรือ Edge 1000 ดังนั้นแผนที่ที่มีอยู่จึงไม่ได้เป็นแบบละเอียดบอกถึงถนนเส้นทางต่างๆ การใช้งานจะสามารถแสดงเส้นทางได้เฉพาะ Route ที่เราบันทึกเข้ามาในเครื่องเท่านั้น ดังนั้นความสามารถประเภทนำทางบอกให้เลี้ยวซ้ายขวานั้นจะไม่มี
แต่ถ้าอยากจะลงแผนที่แบบ 3rd party ก็ยังสามารถทำได้อยู่ แต่ก็มีข้อจำกัดอยู่บ้างคือตัว Edge 520 นั้นมีหน่วยความจำภายในอยู่เพียงแค่ 50 MB จึงไม่สามารถลงแผนที่ที่มีขนาดใหญ่มากได้ สำหรับระบบแผนที่แนะนำให้ลองใช้ของ OpenStreetMap ดูครับ ใช้ฟรี
Let’s Ride!
เตรียมพร้อมเรียบร้อยแล้วก็ออกปั่นกันได้แล้ว เริ่มด้วยกดเลือก Profile ที่ต้องการใช้ในการปั่น เช็คเซนเซอร์ต่างๆ ว่า Edge 520 เชื่อมต่อครบเรียบร้อยแล้วหรือไม่ จากนั้นก็กดปุ่ม Start เพื่อเริ่มปั่นได้เลย
ความแม่นยำในการจับสัญญาณดาวเทียมถือว่าทำได้ดีตามมาตรฐานของ Garmin ยังไงสิ่งที่ต้องคำนึงในการใช้งานคือการตั้งค่า Profile ให้เหมาะกับเส้นทางที่ปั่นและอุปกรณ์ที่ใช้ รวมถึงการตั้ง Setting ต่างๆ ส่วนในเรื่องของเส้นทาง แนะนำให้ใช้ Garmin Connect สร้าง route เอาไว้ก่อนแล้ว Export เข้ามาที่ Edge 520 เพื่อแสดงเส้นทางในการปั่น หรือจะใช้เส้นทางเดิมที่เคยปั่นเอามาทำเป็น Route ก็ได้ โดยตัวเครื่องจะสามารถจัดเก็บ Route ได้ 200 เส้นทาง
และถ้าต้องการจบทริปการปั่นก็กดปุ่ม Start อีกครั้งเพื่อ Pause แล้วกดเลือกสั่งบันทึกการปั่น เท่านั้นข้อมูลก็จะถูกเก็บเอาไว้เรียบร้อย และถ้าคุณเชื่อมต่อเอาไว้กับสมาร์ทโฟน ทริปนั้นก็จะถูกอัพโหลดเข้าสู่ Garmin Connect ให้ทันที ส่วนประวัติการปั่นของเราก็สามารถกดเปิดดูย้อนหลังได้เช่นกัน โดยจะเก็บไว้ในเครื่องได้สูงสุด 200 กิจกรรม
การเก็บข้อมูลต่างๆ ของ Edge 520 นั้นมีทั้งพื้นฐานไม่ว่าจะเป็นระยะทาง, เวลา, แคลอรี่, รอบขา, ความเร็ว, อัตราการเต้นของหัวใจ ฯลฯ ไปจนถึงระดับแอดวานซ์อย่าง Watt, VO2max, FTP (Function Theshold Power) แต่ว่าจะต้องใช้ร่วมกับ Power Meter ด้วยนะ
Strava Live Segment
เป็นฟีเจอร์ใหม่ที่เปิดตัวมาพร้อมกับ Edge 520 แต่ตอนนี้ใครที่ใช้ Edge 510, 810 และ 1000 สามารถอัพเดตเฟิร์มแวร์เพื่อใช้ฟีเจอร์นี้ได้เช่นกัน สำหรับใครที่ใช้งานแอพ Strava น่าจะคุณเคยกับระบบ KOM (King of Mountain) กันดี มันคือระบบการแข่งขันทำสถิติในเส้นทางระยะสั้น (Segment) ที่ถูกสร้างขึ้นบนเส้นทางต่างๆ และจัดอันดับสถิติคนที่ทำความเร็วเอาไว้ได้ และตอนนี้ทา Garmin ได้จับมือกับ Strava ทำให้สามารถเอาบรรดาเส้นทาง Segment ของ Strava มาแสดงผ่านทาง Edge 520 ได้
ก่อนอื่นเลยเราจะต้องทำการเชื่อมต่อบัญชี Garmin Connect และ Strava เข้าด้วยกันก่อน และการจะใช้ฟีเจอร์นี้ได้คุณจะต้องเป็นสมาชิกแบบ Premium (เสียเงินรายเดือน/ปี) จึงจะใช้ได้ เมื่อเชื่อมต่อเรียบร้อยแล้วทุกครั้งที่เปิดเครื่องมันจะทำการเช็ค Segment จากบัญชี Strava ของเราที่เราเคยมีสถิติบันทึกไว้ หรือที่มีเพื่อนของเราติดอันดับอยู่ รวมถึง Segment ที่เราเคยกด Like เอาไว้ ทั้งหมดนี้จะถูกโหลดเข้ามา เราสามารถเลือกที่จะเปิด,ปิด หรือลบทิ้งได้
เมื่อเราปั่นจักรยานเข้าไปใกล้ระยะของจุดเริ่มต้น Segment จะมีการแจ้งเตือนบอกขึ้นมาว่าเราใกล้จะเข้าสู่เส้นทางแข่งแล้ว และตัดหน้าจอเข้าสู่แผนที่ของ Segment นั้นให้ทันที
ระหว่างที่ปั่นจะมีสถิติของเพื่อนเราใน Segment เดียวกัน หรือของคนที่เป็น KOM แจ้ง และเมื่อจบเส้นทาง ระบบจะสรุปข้อมูลแล้วอัพขึ้นให้ใน Strava ทันที ก็ถือว่าเป็นอีกลูกเล่นสำหรับคนที่ชอบเล่น KOM อยู่แล้ว เพราะมันช่วยกระตุ้นให้เราอยากแข่งขันและเร่งรอบขาได้แบบสะใจดีมาก

นอกจากนี้การใช้งาน Segment อันนี้จะใช้แบบออฟไลน์ ไม่ต้องพ่วงกับมือถือก็ได้ แต่ว่าตอนแรกต้องดาวน์โหลด Segment มาไว้ในเครื่องและเปิดใช้งานก่อน เวลาปั่นเข้าไปในเส้นทางก็จะทำการบันทึกสถิติให้ได้เช่นกัน ซึ่งเราไป Sync ทีหลังก็ได้
สรุปโดยรวม
Garmin Edge 520 ถือว่าเป็น GPS สำหรับจักรยานที่อยู่ในโซนราคาระดับกลางแต่รองรับการใช้งานระดับสูงได้หลายอย่าง หลายคนอาจจะรู้สึกว่าเมื่อเทียบกับ 510 แล้วรู้สึกว่ามันแพงขึ้นมาพอสมควร แต่ก็ต้องเข้าใจว่า 510 นั้นออกมานานกว่า 3 ปีแล้วและทาง Garmin น่าจะหยุด support ในอีกไม่นาน ส่วน Edge 520 ตัวเทคโนโลยีน่าจะรองรับไปได้อย่างต่ำๆ ก็ 2-3 ปีเป็นอย่างน้อย
ความสามารถพื้นฐานของ Edge 520 นั้นทำได้ครบถ้วนไม่น่าผิดหวัง ตัวเครื่องขนาดเล็กลงทำให้รู้สึกไม่เกะกะเวลาปั่น และชุด Bundle นั้นแถมเซนเซอร์มาให้เรียกว่าครบถ้วนในการเก็บข้อมูลการปั่นทั้งหมด ไม่ต้องไปหาซื้ออะไรเพิ่มอีก
สำหรับตัวนี้จึงเหมาะสำหรับคนที่ต้องการปั่นจักรยานอย่างเอาจริงเอาจัง ต้องการที่จะดูสถิติเพื่อเอาไปวิเคราะห์เพื่อพัฒนาฝีมือ รวมถึงยังมีระบบที่ช่วยในการฝึกฝน แต่อาจจะด้อยในเรื่องของแผนที่และการนำเส้นทาง และตัวเครื่องไม่สามารถเพิ่มหน่วยความจำได้ ซึ่งถ้าคุณเป็นนักปั่นสายเดินทางและต้องการตัวสำหรับช่วยนำทางและมีระบบแผนที่เต็มรูปแบบ แนะนำให้ใช้เป็นตัว Edge 810 หรือ Edge 1000 แทนจะดีกว่า
ราคาของ Garmin Edge 520 ชุด Bundle อยู่ที่ 15,800 บาท สินค้านำเข้าและจัดจำหน่ายอย่างเป็นทางการโดย ESRI (ประเทศไทย)
อ้อ… ที่สำคัญเลยคือ ต้องบอกว่าเครื่องที่เป็นระบบภาษาไทยนั้นจะมีในเฉพาะรุ่นนำเข้าเท่านั้น พวกของหิ้วจะไม่รองรับภาษาไทยและอัพเฟิร์มแวร์ของไทยไม่ได้ด้วยนะ
จุดเด่น
- ขนาดเล็กลงและน้ำหนักเบาลงเมื่อเทียบกับรุ่นที่แล้ว (Edge 510)
- หน้าจอแสดงผลแบบสี คมชัดในเวลาใช้งานกลางแจ้ง
- ทำงานได้รวดเร็วกว่าเดิมมาก ไม่มีอาการหน่วงในเวลาที่เลือกเมนู
- รองรับภาษาไทยทั้งเมนูและการแสดงข้อความ
- รองรับการใช้งานกับอุปกรณ์รุ่นใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น Power Meter, Garmin Varia (เรดาร์ตรวจจับรถที่วิ่งอยู่ด้านหลัง), กล้อง Garmin Virb XE รวมถึงอุปกรณ์ที่จะออกมาในอนาคต
- แบตเตอรี่ใช้งานได้นาน จากการทดลองใช้รวมแล้วได้ประมาณ 10-15 ชั่วโมง และใช้เวลาชาร์จไฟจนเต็มประมาณ 1-2 ชั่วโมง
- การตรวจจับสัญญาณดาวเทียม, อุปกรณ์เชื่อมต่อ Bluetooth, สมาร์ทโฟน ทำงานได้รวดเร็วและค่อนข้างแม่นยำ
จุดด้อย
- หน่วยความจำภายในขนาดเล็กมาก (ประมาณ 50MB) ถ้าต้องการลงแผนที่แบบ Custom เองไม่สามารถลงได้พื้นที่ไม่มากนัก และไม่สามารถเพิ่ม microSD ได้
- ระบบแผนที่เป็นแบบ Basement ที่บอกแต่เฉพาะตำแหน่ง และเส้นทางใน Route ที่เราติดตั้งเอาไว้
- เสียงแจ้งเตือนค่อนข้างเบาไปนิดเวลาขับบนท้องถนน