อาจจะขัดใจใครหลายๆ คน เนื่องจากเป็นกีฬาปั่นจักรยานเป็นกีฬาประเภท Endurance และ Low-impact ทำไมนักปั่นที่ให้ความสำคัญกับความอึดเป็นหลัก จึงจำเป็นต้องฝึกบริหารกล้ามเนื้อด้วย (Strength training)…ฝึกแล้วสามารถเพิ่มประสิทธิภาพได้จริงหรือ
5 เหตุผลที่นักปั่นควรฝึก strength training
1. เราแก่ตัวลงทุกวัน เป็นหนึ่งในสัจธรรมที่หนีไม่พ้น ยิ่งเราแก่ตัวลง มีอายุมากขึ้น Performance ต่างๆ ก็ลดลงไปด้วย แต่การฝึกกล้ามเนื้อจะช่วยชะลอความแก่ชราของร่างกายลงได้ การฝึกให้กล้ามเนื้อช่วยรักษาและยืดประสิทธิภาพการทำงานของร่างกายให้คล่องแคล้วว่องไว มีความยืดหยุ่นเหมือนตอนหนุ่มๆ
2. การฝึก Strength training จะช่วยรักษามวลกล้ามเนื้อ รู้หรือไม่ คนวัยทำงานอายุ 40 ปีขึ้นไป มีปัญหาเรื่องการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ (Muscle mass) และอัตราเมตาบอลิซึมลดลงมากที่สุด ยิ่งเราแก่ตัวลง เราจะมีความ Active น้อยลง นั้นทำให้เราสูญเสียมัดกล้ามเนื้อได้ง่ายมากขึ้น และจำไว้ว่าการฝึกยกเวทอย่างเดียวช่วยรักษามวลกล้ามเนื้อได้ระดับหนึ่ง เราต้องดูพฤติกรรม ปรับ lifestyle ให้เป็นคน Active มากขึ้นด้วย
3. เพิ่มความคล่องแคล่วของการเคลื่อนไหวให้ร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการยกเวท เล่น Bodyweight หรือฝึกบริหารกล้ามเนื้อร่างกายกับอุปกรณ์ที่มีแรงต้านจะช่วยปรับร่างกายให้มีความคล่องตัว ร่างกายมีความเสถียร รักษาบาลานซ์ได้ดี เพราะกล้ามเนื้อจะมีความยืดหยุ่นและมีความแข็งแรงในการขับเคลื่อน มัดกล้ามเนื้อมัดเล็กที่มักถูกละเลยจะได้ถูกใช้งานและฝึกให้แข็งแรงมากขึ้น
การรักษาบาลานซ์ร่างกายมีผลดีต่อการลดโอกาสเกิดอาการบาดเจ็บลงได้ ร่างกายที่ขาดบาลานซ์เวลาใช้งาน มัดกล้ามเนื้อใหญ่ชุดหลักที่ไม่แข็งแรง จะผลักภาระให้กล้ามเนื้อมัดเล็กทำงานแทน ซึ่งโอกาสเกิดอาการปวดเมื่อยและเกิดการบาดเจ็บจะได้ง่ายขึ้น นอกจากนนี้ การฝึกกล้ามเนื้อเพื่อรักษาบาลานซ์ร่างกายซีกซ้ายและขวา ควรประกอบคู่กับการฝึกโยคะหรือการยืดเหยียดกล้ามเนื้อด้วย
4. ช่วยเพิ่มโอกาสให้กับการเล่นกีฬาประเภทอื่นๆ ด้วย การฝึกกล้ามเนื้อมีประโยชน์ช่วยให้นักปั่นจักรยาน สามารถเล่นกีฬาอื่นๆ ได้ดี นอกเหนือกีฬาปั่นอย่างเดียว เพราะนักปั่นจักรยานจะมีเครื่องยนต์ที่เรียกว่า Aerobic engine ที่แข็งแรงและมีความจุมาก แต่จะมีระบบโครงสร้างมัดกล้ามเนื้อและกระดูกที่ต่ำ (Musculoskeletal system) ในเกมส์กีฬาที่ต้องใช้ระบบ Aerobic ทำงาน นักปั่นจะได้เปรียบมาก แต่เมื่อเปลี่ยนเป็นกีฬาอื่นๆ ที่ไม่มีระบบรองรับแรงกระแทก (weight-supported) หรือ Low-impact เหมือนจักรยานแล้ว ร่างกายจะทดแรงเครียดจากการรับแรงกระแทกเข้าสู่ร่างกายได้น้อย อย่างเช่น การวิ่ง ซึ่งในระยะใกล้ๆ 10 กิโลเมตรดูเหมือนนักปั่นจะไม่เสียเปรียบอะไร แต่เมื่อเพิ่มระยะเป็นฮาร์ฟจนถึงมาราธอน พบว่าร่างกายไม่สามารถประคองไปต่อได้ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อช่วงบนที่จะหมดแรงก่อน หรืออาการปวดเท้า ปวดเข่า ที่จะเกิดขึ้นก่อนนักวิ่งทั่วไป เป็นต้น
5.เพิ่มประสิทธิภาพการปั่น ถ้าถามว่าเล่นเวท ฝึกกล้ามเนื้อแล้วปั่นเร็วขึ้นไหม ก็จะตอบว่าช่วยได้ทางอ้อม การฝึกกล้ามเนื้อช่วงบนอาจจะดูไม่ค่อยออกว่าเกี่ยวกันไหม แต่ถ้าเป็นการฝึกกล้ามเนื้อช่วงล่าง จะช่วยให้ขาผลิตแรงกดแรงบิดให้กับการปั่นมากขึ้น สามารถสร้างรอบการปั่นได้สูง นั้นคือจะทำให้จักรยานเราไปได้เร็วขึ้น หรือการมีกล้ามเนื้อช่วงบนที่แข็งแรงมากขึ้นก็เหมือนนักวิ่ง ที่จะช่วยในเรื่องการยืดระยะทางให้ไปได้ไกลขึ้น ลำตัวเราตั้งตรงและนิ่ง รักษาฟอร์มได้ดี ทำให้ปั่นได้คงตัวและเสถียร
นักปั่นที่มีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงจะเป็นนักปั่นประเภท Well-round พร้อมลุยทุกสถานการณ์ ช่วยเพิ่มขอบเขตความสามารถให้ตัวเองสูงขึ้น เมื่อมีบานที่มั่นคงแล้ว หากจะมุ่งไปสู่การเป็นนักสปรินซ์หรือนักไต่เขา ก็สามารถฝึกเจาะจงได้มากขึ้น ไปได้ไกลมากขึ้นเพราะร่างกายมีความพร้อมที่จะรองรับ Workload ได้มากขึ้น
ประโยชน์อื่นๆ ของการฝึกกล้ามเนื้อนอกจากจะทำให้มัดกล้ามเนื้อมีความแข็งแกร่งทนทาน สร้างพลังงานได้เยอะขึ้นแล้ว ยังจะช่วยโทนร่างกายให้ดูสมส่วนและช่วยลดโอกาสการเกิดอาการบาดเจ็บ นักปั่นที่นิยมแข่งขันระยะทางไกลจะสามารถรักษาฟอร์มการปั่นได้นาน ทำให้ประคองรอบการปั่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อ้างอิง trainright.com